วิธีการเช็ดตาและหยอดยาตา

 

การเช็ดตาและหยอดยาตา

           ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น การมีแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น จำเป็นต้องมีการดูแลและทำความสะอาดดวงตารวมทั้งการหยอดยาตาซึ่งมีหลากหลายชนิด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ดวงตาเกิดการติดเชื้อ ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ในการเช็ดตา หยอดยาตาที่ถูกต้อง

          การเช็ดตา คือ การทำความสะอาดตาทั้งบริเวณขอบตา เปลือกตา และบริเวณรอบตาภายนอกให้สะอาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ทำความสะอาดตา ป้องกันการติดเชื้อ และเพื่อความสุขสบายของตา

    1) อุปกรณ์การเช็ดตา

                       1.1) สำลีสะอาดปราศจากเชื้อ

                       1.2) น้ำเกลือ NSS

                       1.3) 70 % แอลกอฮอล์

                       1.4) ถุงมือ sterile

                       1.5) ผ้าเช็ดมือ sterile

                       1.6) ชามรูปไต

                       1.7) กะละมัง 2 ใบ

                       1.8) eye pad ,eye shield

                       1.9) พลาสเตอร์ปิดตา

                   2) อุปกรณ์การหยอดตา

                       2.1) ยาหยอดตา

                       2.2) ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ

       2.3) ชามรูปไต

                   3) วิธีการเช็ดตา

                       3.1) แจ้งให้ผู้ป่วยทราบวัตถุประสงค์และขั้นตอนการเช็ดตา

                       3.2) จัดให้ผู้ป่วยนั่งให้สบาย แหงนหน้าศีรษะพิงพนักเก้าอี้หรือท่านอนหงายไม่หนุนหมอน

                       3.3) เปิดฝาครอบตาและผ้าปิดตาออก

                       3.4) ล้างมือให้สะอาดแล้วใส่ถุงมือปราศจากเชื้อ จากนั้นล้างมือเผื่อล้างฝุ่นแป้งออกด้วย NSS irrigate 2 รอบและเช็ดมือด้วยผ้าสะอาดปราศจากเชื้อ

                       3.5) เริ่มการเช็ดตาโดยใช้สำลี 7 ก้อน โดยก้อนที่ 1-2 ชุบ 70 % แอลกอฮอล์ ก้อนที่ 3-7 ชุบ NSS บีบสำลีด้วยปลายนิ้วมือให้หมาด (ไม่ให้น้ำเลอะบริเวณฝ่ามือ)  คลี่สำลีและพับมุมให้มน ป้องกันเศษสำลีเข้าตาผู้ป่วย

                       ก้อนที่ 1 ให้ผู้ป่วยหลับตาเช็ดเปลือกตาบนจากหัวตาไปหางตาไล่ขึ้นไปเหนือคิ้ว

ก้อนที่ 2 ให้ผู้ป่วยหลับตาเช็ดเปลือกตาล่างไล่ลงมาถึงแก้มจนสะอาดโดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา

ก้อนที่ 3 ให้ผู้ป่วยหลับตาเช็ดบริเวณเหนือเปลือกตาบนจากหัวตาไปหางตา

ก้อนที่ 4 ให้ผู้ป่วยหลับตาเช็ดเปลือกตาล่างจากหัวตาไปหางตา

ก้อนที่ 5 เช็ดที่หัวตาให้ผู้ป่วยมองขึ้นทางหางตา

ก้อนที่ 6 เช็ดชิดขอบตาบนโดยให้ผู้ป่วยมองด้านปลายเท้าดึงเปลือกตาบนขึ้นเล็กน้อยเช็ดจากหัวตาไปหางตา

ก้อนที่ 7  เช็ดขอบตาล่างโดยให้ผู้ป่วยมองขึ้นด้านบนดึงเปลือกตาล่างลงเล็กน้อยเช็ดจากหัวตาไปหางตา

                       3.6) ปิดตาด้วย eye pad และครอบ eye shield ติดพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย

 

ภาพแสดงลำดับการเช็ดตา

                   4) การหยอดยาตา

                       4.1) ล้างมือให้สะอาด

                       4.2) ตรวจสอบชื่อยา ชื่อผู้ป่วย เวลา ตาข้างที่หยอด วันหมดอายุของยา

                       4.3) แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ

                       4.4) ให้ผู้ป่วยนั่งแหงนหน้าหรือนอนหงาย

                       4.5) ให้ผู้ป่วยเหลือบตามองขึ้น ใช้นิ้วหรือไม้พันสำลีดึงเปลือกตาล่างลง

                       4.6) มืออีกข้างหยิบขวดยา ให้ขวดยาห่างจากตาประมาณ 2 เซนติเมตร หยอดยา 1-2 หยดลงตรงกลางถุงเยื่อบุตา และกระพริบตา2-3 ครั้งเพื่อให้ยากระจายทั่วตา

                       4.7) ให้ผู้ป่วยหลับตาลง กดหัวตาเบา ๆ ประมาณ 10 วินาที ป้องกันยาไหลลงคอและใช้สำลีซับยาส่วนที่ล้นออกนอกตา

                       4.8) ถ้าหยอดยามากกว่า 1 ตัว ให้หยอดห่างกัน 5-10 นาที

                       4.9) หากยาบางชนิดเป็นชนิดแขวนลอยให้หยอดยาที่มีลักษณะใสก่อน ถ้ามีขี้ผึ้งป้ายตา ให้ป้ายหลังหยอดตาเสมอ

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดตาที่สำคัญคือการเช็ดตา หยอดยาที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้และสิ่งสำคัญคือการเน้นให้ผู้ป่วยและญาติปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและสามารถปฏิบัติได้เองอย่างถูกต้อง

 ********************************************************************************************************

บทความจาก ตำราการฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 1 (อาจารย์จุฑาทิพย์ เทพสุวรรณ์: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม)

เวปไซต์มหาวิทยาลัย : https://www.npru.ac.th/ 

 เวปไซต์คณะพยาบาลศาสตร์ : https://nurse.npru.ac.th/

ประวัติผู้เขียน : http://pws.npru.ac.th/serennia/

 

ความคิดเห็น